วันอังคารที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2550

งานเดี่ยวดนตรี


นอกจากงามแล้ว ท่าน พุทธทาสภิกขุ กล่าวถึงพระธรรมเป็นของละเอียดอ่อน ต้องทำอย่างมีฝีไม้ลายมือ เช่นว่า จะทำสมาธิบังคับจิตให้ได้ อย่างนี้มันต้องละเอียดอ่อน ต้องมีฝีมือยิ่งกว่าหมอฟันหรือทันตศิลปินเป็นอันมาก เพราะว่ามันเป็นเรื่องทางจิตใจมันละเอียดอ่อนกว่าเรื่องทางวัตถุ
ที่ว่า “สำเร็จประโยชน์” นี้ สำเร็จประโยชน์ยิ่งกว่าสิ่งใด บรรดาสิ่งที่ทำให้สำเร็จประโยชน์แก่มนุษย์เราแล้ว ไม่มีสิ่งใดจะทำให้สำเร็จประโยชน์มากเท่าธรรมมะหรือพระธรรม ดังนั้นพระธรรมจึงมีความงาม มีความละเอียดอ่อนในการประพฤติ และมีความสำเร็จประโยชน์สูงสุดพระธรรมก็คือศิลปะ ศิลปะแท้จริงก็คือพระธรรม เรารู้จักพระธรรมกันในแง่นี้หรือเปล่า
ที่แล้ว ๆ มาก็สนใจกันแต่เรื่องว่ามีประโยชน์ดับทุกข์ได้แต่ไม่ค่อยคำนึงถึงความงามดังนั้นจึงโง่และไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อน ดังนั้นจึงทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่ได้ เพราะว่าทำหยาบ ๆ มีนิสัยทำหยาบ ๆ หวัด ๆ มาตั้งแต่เกิด มันก็มาทำกันไม่ได้กับพระธรรมแล้วก็ไม่รู้จักมุ่งหมายความงดงามด้วย มันก็เข้ารูปกันยาก มันไม่เข้ารูป มันไม่ถูกฝาถูกตัวกันอย่างนี้ ธรรมะก็ไม่สำเร็จประโยชน์แก่บุคคลชนิดนี้ ซึ่งไม่มีความรู้ความเข้าใจหรือความพอใจในสิ่งที่เรียกว่า ศิลปะ เมื่อพระธรรมเป็นศิลปะอย่างเต็มตัว คนที่ไม่รู้เรื่องศิลปะ มันก็รู้เรื่องพระธรรมไม่ได้ ฉะนั้นขอให้สนใจคำว่า “ศิลปะ” ให้ถูกต้องและเต็มที่
เดี๋ยวนี้อาตมายังเติมคำว่า “ปรมัตถะ” เข้าไปข้างหน้าด้วย เป็น ปรมัตถศิลปะ ก็คือ ศิลปะที่มีความหมายอย่างยิ่ง มีประโยชน์อย่างยิ่ง คือยิ่งถึงที่สุด แล้วระบุเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับการครองชีวิต ไม่ใช่เรื่องการขีดเขียน การระบายสี การตกแต่ง การกระทำ อย่างวัตถุภายนอก เดี๋ยวนี้เป็นเรื่องในจิตใจ ในภายใน
นี่สรุปความว่า ถ้าไม่งาม ก็ไม่ใช่ศิลปะ แม้จะดีมีประโยชน์อย่างไร ก็ไม่ใช่ศิลปะต้องงามจึงจะเป็นศิลปะเพราะว่าใจความสำคัญมันจะอยู่ที่นั่น คำว่า “งดงาม” มันหมายถึงค่าที่เป็นไปในทางความสุขด้วยเหมือนกัน เพราะว่าสิ่งใดงามย่อมทำความพอใจ สบายใจให้แก่บุคคลนั้น ๆ เพราะว่ามันจะเป็นสัญชาตญาณก็ได้
อาตมาคาดคะเนเอาว่า ความรู้สึกว่างาม และเป็นสุขนี้มันเป็นสัญชาตญาณ โดยไม่ต้องมาศึกษาอะไรกันอีก แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มันยังรู้จักชอบงาม เมื่อได้สถานที่ที่งดงามมันก็โลดเต้นกันใหญ่ แม้แต่ไก่นี่ได้ที่ที่สะดวกสบาย งดงาม มันก็คึกคะนองกันใหญ่ บินขึ้นลงขันแล้วขันอีก เรียกว่า ความงามทางจิตใจนี่มันเป็นเรื่องที่ต้องการของจิตใจ ถ้าได้มาก็เป็นเรื่องประเล้าประโลมใจที่ดีที่มีประโยชน์
จิตใจของคนเราต้องการสิ่งประเล้าประโลมใจ นี้ขาดไม่ได้ ถ้าขาดแล้วมันเหงา มันไม่สมบูรณ์ คือมันไม่มีความสุขนั่นแหละ มันต้องมีสิ่งประเล้าประโลมใจ ทีนี้คนโง่เขาก็ไปเอาอบายมุข ดื่มน้ำเม เล่นมหรสพอะไรกันไปตามเรื่องที่เป็นสิ่งประเล้าประโลมใจ มันก็ประเล้าประโลมไปตามแบบนั้น ผลที่ได้มันก็ไม่ใช่ความสงบสุข เพราะมันประเล้าประโลมใจไปในทางยั่วยุให้มันสงบไม่ลง
ทีนี้ พุทธบริษัทเราต้องการความงามอย่างแท้จริงมาเป็นเครื่องประเล้าประโลมใจ เช่น คุณค่าของพระธรรมที่มีความงามในทางศิลปะอย่างที่กล่าวแล้ว มาเป็นสิ่งประเล้าประโลมใจ พุทธบริษัท จึงสบายใจ สงบสุขอยู่ได้ด้วยธรรมะ โดยไม่ต้องไปดูหนังดูละคร ไม่ต้องดื่มเหล้าเมายา ไม่ต้องลุกขึ้นเต้นรำ หรือไม่ต้องทำอะไรอย่างที่อวิชชาพาไปเหมือนคนส่วนมากในโลก
นี่เป็นการชี้ให้เห็นในแง่ที่ว่า ชีวิตมันต้องการสิ่งประเล้าประโลมใจในทางความงามแล้วความงามนั้นต้องเป็นไปในทางที่ถูกต้อง คือเป็นไปเพื่อความสงบสุข ถ้ามันประเล้าประโลมใจไปในทางให้ฟุ้งซ่าน ให้กำเริบแล้วมันก็ผิด คือมันได้ผลไปในทางยุ่งยากลำบากไม่มีความสงบ ฉะนั้นความสงบนั่นแหละกลับเป็นความงาม เราดูคนที่มีความสงบเสงี่ยม เรารู้สึกว่างาม คนที่แต่งเนื้อแต่งตัวสวย หาความสงบเสงี่ยมไม่ได้ เราก็ดูเป็นคนที่ไม่น่าไว้ใจนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติแท้ ๆ
ถ้ามีความผิดพลาดอย่างใด ๆ ที่เรียกว่าเป็นบาป เป็นอกุศล ปรากฏอยู่ พุทธบริษัทก็จะเห็นว่ามันไม่งาม แต่คนโง่ปุถุชนคนธรรมดาสามัญอาจจะเห็นเป็นงามไปก็ได้เดี๋ยวนี้เราเอาพุทธบริษัทเป็นหลักกันดีกว่า อะไรผิดพลาด ไม่ถูกต้อง หรือเป็นกิเลส นี่มันไม่งามต่อเมื่อมันตรงกันข้าม คือไม่มีกิเลส มันมีความถูกต้อง เราก็เห็นว่ามันงาม หรือมันมีศิลปะ เมื่อเวลามีกิเลสก็คือไม่มีศิลปะ เพราะไม่มีความงาม เมื่อเวลาไม่มีกิเลสกันก็มีศิลปะเพราะว่ามันงาม นี่งามในทางธรรมเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่งามทางวัตถุ รูปร่างภายนอก หรืองามเพราะกิเลสชวนให้เห็นว่า “งาม”
อาตมาพูดอย่างนี้ว่า ทุก ๆ คน ไม่ว่าคฤหัสถ์ บรรพชิต ไม่ว่าเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่า มีความจำเป็นที่จะต้องรู้จักทำให้ชีวิตนี้ประกอบไปด้วยความงาม คือ มีพระธรรม เหมือนกับว่า พระธรรมนี้จำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกขั้นทุกตอนแห่งวิวัฒนาการของเขาทีเดียว
ถ้าเรารู้จักธรรมชาติของจิต เราจะรู้ตามพระพุทธภาษิตที่ได้ตรัสไว้ว่า จิตนี้มีปรกติประภัสสร คือ ใส ผ่องใสอยู่ตามธรรมชาติ แล้วก็เศร้าหมองเมื่ออุปกิเลสจรเข้ามา เหมือนกับว่า เพชรนี้มันมีน้ำที่ใส น้ำเพชรที่สวยงามอยู่ในเพชร ถ้ามีอะไรมาปิดบังเสีย มันก็ไม่ปรากฏมันก็ไม่งาม แม้ว่าธรรมชาติเดิมของมันจะงาม เช่น ความที่ไม่ได้เจียระไน ยังมีผิวขรุขระ นี่มันก็ไม่งามเพราะความที่ไม่ได้เจียระไนนั่นมันบังเอาไว้เสีย หรือว่าเจียระไนแล้วแต่ถ้ามันเปื้อนโคลน เปื้อนสี เปื้อนของสิ่งสกปรก มันก็ไม่งามเหมือนกัน ฉะนั้น เราถือว่าโดยธรรมชาตินี้จิตนี้เป็นประภัสสร งาม แล้วก็เสียความงามไปเมื่อมีกิเลส คือความเศร้าหมองเข้ามาปกปิด ฉะนั้นความมีกิเลสจึงไม่งาม ความไม่มีกิเลสจึงเป็นความงามอยู่ตามธรรมชาติ เมื่อจิตแจ่มใส สะอาด สว่าง สงบ เย็น นี้มันเป็นความงามอยู่ตามธรรมชาติเดิม

วิธีสร้างความงาม
ข้อแรกสุด อยากจะระบุไปยัง ความไม่มีลักษณะแห่งอบาย หรือที่เรียกว่า ไม่มีอบายมุข ก็ได้เหมือนกัน คำว่า อบายมุข แปลว่า ปากทางแห่งความเสื่อม แล้วก็มีคำประกอบเข้ามาว่าเสื่อมแห่งอะไร ถ้าเสื่อมแห่งทรัพย์สมบัติก็เป็นคำธรรมดา แต่ถ้าเป็นภาษาที่สูงขึ้นไปเรียกว่า ภาษาธรรม ก็จะระบุไปยังความเสื่อมแห่งความเป็นมนุษย์ คือความเป็นมนุษย์มันร่อยหรอไป มันเสื่อมไป หรือมันหายไปแล้วมันงามหรือไม่งาม ขอให้ลองคิดดู เรามีสติในการจะรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ให้เสื่อม ก็คือมีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แล้วมันจะงามหรือไม่งามก็ขอให้ลองคิดดู พร้อมกันนั้นก็จะรู้ความหมายของคำว่า งามในธรรมหรือทางภาษาธรรมด้วยพร้อมกันไปในตัว
การมีสติ หมายถึงมีปัญญารวมอยู่ด้วย ธรรมดาคนเราย่อมรู้จักคิด รู้จักนึก รู้จักผิดถูกชั่วดี ส่วนนั้นมันเป็นปัญญา แต่ถ้าว่าไม่มีสติแล้ว ปัญญาไม่รู้ว่ามันไปคลานงุ่มง่ามอยู่เสียที่ไหนมันไม่มาช่วยแก้ปัญหาทันท่วงที ฉะนั้น จึงต้องมี สติ คือ สิ่งที่ไปดึงเอาปัญญาเข้ามาใช้ให้ทันท่วงที ถ้า สติเอาปัญญามาได้ทันท่วงทีฉับไว อย่างนี้ ปัญญา ก็เปลี่ยนชื่อใหม่แทนที่จะเรียกว่าปัญญา กลับได้ชื่อไหมว่า ปฏิภาณ เป็นปัญญาชนิดหนึ่ง คือ ปัญญาไว ปัญญามาทันท่วงที
คำว่า “กิเลส” ขอให้ทราบไว้ด้วยว่า ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ของสกปรก เขาเอาความหมายของของสกปรก อุจจาระ ปัสสาวะ ที่มันสกปรกนี่เรียกกันอยู่ก่อนแล้ว ไปเรียกของสกปรกทางจิตใจ คือ กิเลส เดี๋ยวนี้เขาแปลให้อย่างสุภาพ ๆ ว่า ความเศร้าหมองที่จริงมันก็คือ ความสกปรก ขอให้ท่านทั้งหลายรู้ไว้เถอะว่า กิเลสนั้นคือของสกปรก ของสกปรกมันจะงามได้อย่างไร ต่อเมื่อไม่มีสภาวะสกปรกมันจึงจะมีภาวะแห่งความงาม

วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2550

วันพุธที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2550


ตอบคำถามอาจารย์

1. สุนทรีศาสตร์หมายถึง
ตอบ =
วิชาที่ว่าด้วยความงามซึ่งครอบคลุมถึงความงามในธรรมชาติและความงามในผลงานที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นงานศิลปกรรม ตลอดจนความงามของกระบวนการสร้างผลงานนั้นด้วย

2. สุนทรียศาสตร์มีประโยชน์อย่างไร
ตอบ = ศึกษาสุนทรียศาสตร์มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความงามเป็นสิ่งเร้าที่ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกพึงพอใจในด้านบวกเสมอ จึงมีประโยชน์หลายประการดังนี้
2.1 ส่งเสริมกระบวนการคิด การตัดสินความงามอย่างสมเหตุสมผล
2.2 ช่วยกล่อมเกลาให้เป็นผู้มีจิตใจอ่อนโยน มองโลกในแง่ดีอย่างมีเหตุผล
2.3 เสริมสร้างประสบการณ์สุนทรียะให้กว้างขวางเพื่อการดำรงอยู่อย่างสันติสุข
2.4 ส่งเสริมแนวทางในการแสวงหาความสุขจากความงามของสิ่งต่างๆทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
2.5 ส่งเสริมให้เห็นความสำคัญของสรรพสิ่งและการบูรณา การเพื่อการประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์กับชีวิตประจำวัน ด้วยเหตุผล และความรู้สึกที่สอดคล้องกัน

3. สุนทรียศาสตร์มีประโยชน์อย่างไรต่อวิชาชีพพยาบาล
ตอบ = ทำให้พยาบาลสามารถใช้กระบวนการในการคิดและมีจิตสสำนึกช่วยเหลือผู้อื่นด้วยความเอื้ออาทรต้องการให้ผู้อื่นมีสุขภาพดีทั้งกายและใจโดยไม่คิดรังเกียจ ยิ้มแย้มจากจิตใจ ไม่ดูถูกและรังเกียจบุคคลอื่น อ่อนโยนแต่ไม่อ่อนไหว